แหนแดงไมโครฟิลล่า จากกรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์
แหนแดงเป็นพืชน้ำชนิดหนึ่ง ตระกูลเฟริน ภายในโพรงใบแหนแดงจะมีสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงิน ชนิดหนึ่ง ซึ่งตัวสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงินจะเป็นตัวตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ทำให้ตัวแหนแดงมีไนโตรเจนสูงถึง 4-5% มีไนโตรเจนสูงคล้ายพืชตระกูลถั่ว โดยทั่วไปมักใช้ในนาข้าว เพื่อเพิ่มไนโตรเจนในดิน เมื่อเราไถ่กลบหลังเก็บเกี่ยวข้าว โดยพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าเราจะได้แหนแดงซึ่งเป็นปุ๋ยไนโตรเจนอย่างดี น้ำหนักประมาณ 2-3 ตัน

ลักษณะแหนแดงไมโครฟิลล่า คือจะมีลักษณะใหญ่กว่า แหนแดงพันธุ์พื้นเมืองอย่างชัดเจน เจริญเติบโตได้รวดเร็วเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสด และค่าใช้จ่ายน้อย

วิธีการเพาะ และขยายพันธุ์

การเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์แหนแดง เบื้องต้นควรมีบ่อเลี้ยงที่เป็นส่วนตัวของตัวเองไม่ควรเลี้ยงในแหล่งน้ำสาธารณะทั่วไป เนื่องจากแหนแดงไมโครฟิลล่ามีอัตราการแพร่กระจายได้รวดเร็ว หากหลุดไปยังแหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะทำให้เกิดการหนาแน่นคล้ายกับผักตบชวาได้ และด้วยตัวของแหนแดงเองมีส่วนประกอบที่เป็นไนโตรเจนค่อนข้างสูงอาจทำให้แหล่งน้ำนั่นๆ เป็นพิษได้

สำหรับการขยายพันธุ์ทำได้ง่ายๆ โดยการหาภาชนะเลี้ยง กาละมัง บ่อขอบปูน หรือผ้าใบปูพื้นบ่อโดยให้บ่อมีน้ำสูง 1 คืบ ถึง 2 คืบก็เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงแล้วโดยเราต้องนำมูลสัตว์มาใส่ในน้ำเพื่อให้ตัวแหนดูดซึมสารอาหารจะเป็นการเร่งการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ควรใส่มูลสัตว์จนเยอะเกินไปอาจทำให้น้ำเน่าได้ครับ

ประโยชน์ของตัวแหนแดง ที่โดดเด่นคือไนโตรเจนค่อนข้างสูง เหมาะกับพืชทานใบทุกชนิด เช่นคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้งเป็นต้น โดยเราไม่ต้องใส่มูลสัตว์เพิ่มเติมก็ได้ หรือ เราจะช้อนแหนเพื่อตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือ นำไปผสมดินปลูก ดินเพาะกล้าได้ผลที่ดีครับ

วิธีการใช้ เราสามารถตักสดไปใส่โคนต้นไม้ได้เลย หรือ หากแพร่กระจายจนเต็มบ่อขยายแล้วสามารถช้อนนำไปตากแดดไว้ 1-2 วัน จนแห้งและเก็บไว้ใช้แทนปุ๋ยยูเรียได้เลย  เบื้องต้นแหนแดงไมโครฟิลล่านี้ ถูกพัฒนามาเพื่อใช้ในนาข้าวเพื่อเป็นการช่วยเกษตกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง เพียงแค่เกษตรกรที่ทำนา นำแหนไมโครฟิลล่าไปปล่อยในนา ท่านก็จะได้ปุ๋ยพืชสดอย่างดี มีคุณภาพ และ ต้นทุนต่ำอีกด้วย โดย พื้นที่นาประมาณ 1 ไร่ หากแหนเจริญเต็มพื้นที่ ท่านจะได้แหนแดงไมโครฟิลล่า เป็นปุ๋ยพืชสดน้ำหนักประมาณ 3 ตัน อยู่ในนาของท่านเอง ไม่ต้องไปเดินหว่านปุ๋ยให้เมื่อย  เชื่อไอ้เรืองเถอะครับ

แหล่งที่มาของข้อมูล จากกรมวิชาการเกษตร